“น้าโย่ง” เขินคนเรียกด็อกเตอร์ สุดภูมิใจ คว้าปริญญาเอก อนุรักษ์ภาษาไทย

โย่ง เชิญยิ้ม เขินคนเรียกด็อกเตอร์ สุดภูมิใจ คว้าปริญญาเอก อนุรักษ์ภาษาไทย หวังคนรุ่นใหม่สานต่อ วอนผู้ใหญ่เปิดพื้นที่สนับสนุน

ขึ้นแท่นด็อกเตอร์ป้ายแดงแล้ว สำหรับศิลปินตลกอาวุโส โย่ง เชิญยิ้ม ที่ล่าสุดได้รับปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม ท่ามกลางความยินดีของครอบครัว และเพื่อนพ้องดาราตลก อาทิ เป็ด เชิญยิ้ม, โน้ต เชิญยิ้ม, เด๋อ ดอกสะเดา, ถั่วแระ เชิญยิ้ม, เท่ง เถิดเทิง, นุ้ย เชิญยิ้ม ฯลฯ ที่มาร่วมแสดงความยินดีกันอย่างอบอุ่น

โดย น้าโย่ง ได้เปิดใจในงานเลี้ยงฉลองหลังได้รับปริญญาเอก ที่ร้านมีไม้คาเฟ่ ลำลูกกาคลอง 2 บอกดีใจและภูมิใจสิ่งที่ตนทำมาด้วยความรักตลอด เรื่องสืบสานศิลปะพื้นบ้าน เพลงฉ่อย ลิเก เพลงแหล่ เพลงอีแซว ลำตัด มีคนเล็งเห็นคุณค่า อยากให้คนรุ่นหลังได้ซึมซับอนุรักษ์สานต่อ พร้อมวอนผู้ใหญ่เปิดพื้นที่ให้โอกาสสนับสนุนต่อไป

เป็นดร.โย่งแล้ว? “ก็ดีใจครับ สิ่งที่เราไม่ได้หวัง ไม่ได้คาดคิดไว้ พอได้รับพระราชทานปริญญาครั้งนี้ ก็ดีใจมากครับ เป็นปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย ถามว่าเกณฑ์การพิจารณาจากอะไร ก็สืบสานอนุรักษ์ภาษาไทย สืบสานศิลปะพื้นบ้านครับ จากเพลงฉ่อย ลิเก เพลงแหล่ เพลงอีแซว ลำตัด เพลงเรือ เพลงอะไรต่างๆ ที่เราร้อง น้าโย่งก็พยายามถ่ายทอดออกไป อยากให้เด็กๆ รุ่นหลังได้รู้ ได้ซึมซับบ้าง ไม่อยากให้ของเก่าๆ มันหมดไป เรารักอะ”

เขินไหมกับคำว่า ดร.โย่ง? “เขินนะ ปกติมีแต่คนเรียกน้าโย่งๆ ตอนนี้บางคนเขาก็แซว ดร.โย่งๆ ก็เขินครับ ไม่คาดคิดเลยว่าจะได้ มันก็ภูมิใจแหละว่าสิ่งที่เราทำผ่านมา มันมีคุณค่า มันมีประโยชน์ในเรื่องของการอนุรักษ์ภาษาไทย อย่างที่ท่านผู้ใหญ่ให้โอกาสได้มอบรางวัลนี้ให้ ก็ภูมิใจมากในสิ่งที่เราทำผ่านมา แล้วเราก็จะทำต่อไป มันเป็นสิ่งที่เรารักที่จะทำอยู่แล้วด้วยครับ”

รู้สึกยังไงที่หลายคนเล็งเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราได้ทำ? “สิ่งนี้เราเห็นคุณค่าของเราอยู่ เราก็ทำด้วยใจรัก แล้วยิ่งมีคนเห็นคุณค่าไปด้วย เราก็ยิ่งภูมิใจ ดีใจมากเลย คนมองเห็นคุณค่าในสิ่งนี้เยอะแล้วนะ ถึงขนาดที่ให้รับปริญญาแล้วนะ อุ้ย ภูมิใจ”
ตอนที่ทางมหาวิทยาลัยติดต่อมา เป็นอย่างไรบ้าง? “ดีใจ แล้วก็ตกใจแหละ ดีใจผสมตกใจ ว่าอุ้ย…ถึงขนาดนั้นเลยเหรอ ไม่ได้คิดว่าจะได้เป็นด็อกเตอร์ เพราะมันคงหวังไม่ได้”

อยากบอกอะไรถึงเด็กๆ ไหม? “ภาษาไทยกับศิลปะพื้นบ้านเนี่ยนะ เป็นของคู่กันอยู่แล้ว เราเป็นเจ้าของภาษา เราก็ต้องใช้ภาษาให้สวย เขียนให้สวย ไม่ว่าจะเรื่องการพูดการเขียน แล้วก็ในด้านศิลปะ ก็กลัวจะหมดไปด้วย ก็ต้องฝากเด็กรุ่นหลังให้ซึมซับ แต่ก็ฝากเลยเนี่ย พอฝึก พอหัด พอร้อง พอเล่นเป็นแล้ว มันไม่มีงานอะ จะฝึกมาทำไม ก็เลยอยากจะขอให้ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจที่จะสนับสนุนในด้านนี้ได้ ขอให้มาช่วยสนับสนุนเพลงพื้นบ้านหน่อย เพราะเขาก็อนุรักษ์ภาษาไทยด้วยอยู่แล้ว ถ้าหากว่าคนมาเขาอนุรักษ์ เขาอด เขาไม่มีกิน มันก็ไม่มีแรงร้อง ไม่มีแรงเล่น ไม่มีแรงสืบสาน อยากให้งานอำเภอ งานจังหวัด งานวัดที่เขาจัดกัน มีเพลงพื้นบ้านสักหน่อยหนึ่ง เขาจะได้มีกำลังใจ”

นอกจากอยากอนุรักษ์แล้ว ยังอยากให้มีพื้นที่โชว์บนเวทีต่างๆ ด้วย? “นั่นแหละๆ อยากให้มีพื้นที่ เพลงพื้นบ้านจะได้แพร่ขยาย สืบสานต่อไป ไม่อยากให้หมด ศิลปะยาว ชีวิตสั้นเนาะ อายุสั้นกว่าศิลปะ ถ้าหากว่าไม่มีใครสืบสานสนับสนุน ศิลปินรุ่นเก่าๆ ครูบาอาจารย์ก็จะโรยราจากไป ศิลปินก็คงไม่ต่างกับอายุ คงจากไปด้วยถ้าหากไม่สนับสนุน”

มีไปเป็นวิทยากรตามมหาวิทยาลัยไหม? “มีครับ ไปโรงเรียน ถ้าเขาเชิญไปก็ไป ไปสอนไปแนะนำ ตามสไตล์น้าโย่งอะ ซึ่งเขาก็สนใจ มีเด็กสนใจเยอะ ที่อยากจะร้องเพลงพื้นบ้าน เขาแต่งกัน ร้องกัน มันเป็นภาษาสวยอะ จะสมัยเก่าสมัยใหม่ เป็นภาษาไทยมันสวยหมดนะ เราได้เห็นแล้วก็ชื่นใจ ตอนนั้นไปเจอเด็กแว้นมอเตอร์ไซค์ล้ม ข้อศอกถลอกปอกเปิกเลย พอเราขับรถผ่านไป เราเปิดกระจกมองไป เขาด้นสดใส่เลย เราก็เฮ้ย เพลงฉ่อย เพลงพื้นบ้านมันมีชีวิตชีวานะ”